คณะผู้ตัดสินแจงเหตุเปาปัญหาเป่ากีฬามหาลัยฯ
คณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ชี้แจงกรณีการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46
ตามที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ส่งหนังสือ ที่ ศธ 0547(4)/ว 0122 ลงวันที่ 7 มกราคม 2562 เรื่องของอนุญาตให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ผู้ตัดสิน ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธาณีเกมส์” พร้อมกับแนบกำหนดการจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 มาจำนวน 1 แผ่น
–
หนังสือดังกล่าว ถึง สำนักเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ วันที่ 10 มกราคม 2562 เลขรับที่ 014 โดยมี นางสาวสุทธิรักษ์ สุคนธรส เจ้าหน้าที่สมาคมฯ ลงรับ และประสานงานไปยัง คณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน
–
ทั้งนี้ เนื่องจากหนังสือขอตัวดังกล่าว ไม่ได้มีการแนบรายชื่อระบุผู้ตัดสินที่จะลงปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละแมตช์การแข่งขัน ทาง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงได้ทำหนังสือสอบถามกลับไปยัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในวันที่ 11 มกราคม 2562 เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ตัดสินฟุตบอลและฟุตซอลที่จะลงปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแจ้งกลับมา
–
ในการแข่งขันฟุตบอลกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 ในรอบรองชนะเลิศ ระหว่าง มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต พบกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.00 นาฬิกา ปรากฏว่า ฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอล ของกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ได้ส่ง นายพิชิต ทองจันทร์มูล ลงทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินที่ 1 นายจักรตราวุธ จุลมาศ เป็นผู้ตัดสินที่ 2 นายสุดเขต บุญรอด เป็นผู้ตัดสินที่ 3 และ นายภูมิรินทร์ คำรื่น เป็นผู้ตัดสินที่ 4 โดยไม่ได้แจ้งรายชื่อผู้ตัดสินที่ลงทำหน้าที่และไม่ได้มีการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
–
สำหรับ คณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสิน ประจำปี พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยมีข้อที่เกี่ยวข้องดังนี้
–
ข้อ 7. ระบุว่า “ผู้ตัดสิน ที่ขึ้นทะเบียนปฏิบัติงานกับคณะกรรมการผู้ตัดสิน ทุกรายการ ต้องได้รับการอนุญาต จาก คณะกรรมการผู้ตัดสิน ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันใดๆ ทั้งที่ได้รับการรับรองการแข่งขันจากสมาคมกีฬาฟุตบอล แห่งเทศไทยฯ และการกีฬาแห่งประเทศไทย หรืออาจไม่ได้ขอให้รับรองการแข่งขัน เช่น รายการต่างๆ ที่องค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน บริษัท สโมสร องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่มีลักษณะเดียวกันนี้”
–
“ให้ผู้ตัดสินขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อประธานกรรมการผู้ตัดสินหรือผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ผู้ตัดสินก่อนไปปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง”
–
“ยกเว้น การปฏิบัติหน้าที่ผู้ตัดสินให้กับหน่วยงานต้นสังกัด ที่ผู้ตัดสินนั้นปฏิบัติงานประจําอยู่ สามารถ ดําเนินการได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการผู้ตัดสินทราบก็ได้”
–
“หากปรากฏในภายหลังว่าผู้ตัดสินคนใด ไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาต จากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่ง ประเทศไทยฯหรือคณะกรรมการผู้ตัดสิน ถือว่ามีความผิด และให้มีบทลงโทษ ตามกรณีความผิดที่เกิดขึ้นต่อไป”
–
ข้อ 8. ระบุว่า “การขออนุญาตให้ผู้ตัดสินคนใดหรือคณะผู้ตัดสิน ไปปฏิบัติหน้าที่ในรายการต่างๆ ให้ฝ่ายจัดการแข่งขันฯ ทําหนังสือเสนอมายัง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือประธานคณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขออนุญาตให้ผู้ตัดสินนั้นไปปฏิบัติหน้าที่”
–
สำหรับ คณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของบุคลากรผู้ตัดสินมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยึดหลักธรรมมาภิบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และไม่มีนโยบายส่งผู้ตัดสินที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การทดสอบสมรรถภาพประจําปี หรือ มีส่วนพัวพันกับการล้มบอล ทําให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียง ออกไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเด็ดขาด
https://line.me/R/ti/p/%40clic88th